Archive for สิงหาคม, 2010

ข้างหลังภาพ

จากนิตยสาร MED IS CU
เรื่องดีๆ ในรั้วโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ปีที่ 3 ฉบับที่ 8 กรกฎาคม – กันยายน 2553

หน้า 15
เล่าสู่กันฟัง
By : พลาบาลรุ่นเก๋า

ข้างหลังภาพ

เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในไอซียูของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในฐานะของนักศึกษาทำให้สังเกตเห็นประเด็นต่างๆ มากกว่าตอนที่ทำงาน จึงจะขอเล่าถึงการดูแลผู้ป่วยรายหนึ่งไว้เป็นข้อคิดให้แก่ท่านผู้อ่าน

ผู้ป่วยเอดส์รายนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และแพทย์ได้สั่งยาต้านไวรัสให้ผู้ป่วยรับประทาน แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยา และขาดการมาตรวจตามนัดจนกระทั่งติดเชื้อ ฉวยโอกาสอาการทรุดหนักต้องเข้าไอซียูและใส่เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยรู้ตัว เหม่อลอย ไม่ค่อยโต้ตอบสื่อสาร แม้พยาบาลจะดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี อาการของผู้ป่วยก็ยังคงเป็นแบบไม่ยินดียินร้าย สีหน้าเมินเฉย ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ป่วยปลงต่อโรคที่เป็น หรือไม่ได้อยากรักษาโรคจึงไม่กินยาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยเอดส์สิ่งสำคัญของการรักษาและเป็นปัญหาที่น่ากลัว คือการดื้อยา ดังนั้นแพทย์และพยาบาลจึงมักถามผู้ป่วยว่าทำไมไม่กินยา ซึ่งผู้ป่วยก็ไม่ตอบอะไร ได้แต่มองหน้าคนถามแล้วก็นิ่ง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังไม่มีญาติที่จะให้ข้อมูลได้เลย ในฐานะผู้ที่เข้ามาศึกษาจึงมีคำถามจากอาจารย์พยาบาลว่า “เราจะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยรายนี้อย่างไร” เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่จากเวชระเบียน โดยไม่ได้เข้าไปคุยกับผู้ป่วยเอง (แปลว่าคิดเอาเอง) ผู้ป่วยน่าจะมีปัญหาด้านจิตใจ มีภาวะเศร้า ท้อแท้ อีกทั้งผู้ป่วยเป็นโรคติดต่อเรื้อรังยังรักษาให้หายขาดไม่ได้ ผู้ป่วยตัวคนเดียวอาจไม่มีแรงจูงใจกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

ในเช้าวันที่จะเข้าไปคุยกับผู้ป่วยนั่นเอง พยาบาลที่เป็นเจ้าของผู้ป่วยเป็นพยาบาลอาวุโสกำลังพูดคุยกับผู้ป่วย และผู้ป่วยก็โต้ตอบเป็นอย่างดีไม่มีท่าทีเมินเฉยเหมือนก่อนนี้ พี่พยาบาลคนนี้เล่าให้ฟังว่าผู้ป่วยไม่ได้ท้อแท้หรือไม่อยากรักษาอย่างที่เราคิดหรอก แต่เค้าไม่รู้จะตอบคำถามได้อย่างไร เพราะใส่ท่อช่วยหายใจอยู่คิดว่าพูดไม่ได้และเหตุผลของเขาก็มีมาก พูดไปแพทย์ ก็คงไม่เข้าใจ มาหนำซ้ำคำถามที่ว่า “ทำไมไม่กินยา” “ไม่อยากรักษาหรือไร” “รู้มั๊ยที่เป็นหนักอย่างนี้ก็เพราะไม่กินยา” เป็นคำถามที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถูกต่อว่าว่าเป็นความผิดของผู้ป่วย (ต้องประกอบกับลักษณะของน้ำเสียงที่ใช้ด้วย จึงจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเช่นนั้น) เทคนิคการตั้งคำถามของพี่พยาบาลคนนี้ก็คือถามคำถามสั้นๆ ให้ผู้ป่วยตอบแบบพยักหน้าหรือส่ายหน้าเท่านั้นในช่วงแรก แล้วสะท้อนคำตอบให้ผู้ป่วยรู้ว่าเราเข้าใจเมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกว่าสื่อสารได้แม้จะมีท่อช่วยหายใจคาอยู่ จึงค่อยถามคำถามที่มีคำตอบยาวขึ้น เนื่องจากพี่พยาบาลคนนี้มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเอดส์มาก่อน และทราบดีว่าปัญหาใหญ่ของการไม่รับประทานยาต้านไวรัสต่อเนื่อง คือ อาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ของยานั่นเอง การถามคำถามสั้นๆ ว่า “กินยาต้านไวรัสแล้วปวดหัว เวียนหัวใช่มั๊ยถึงได้เลิกกินยา” ผู้ป่วยถึงกับตาโตและรีบพยักหน้ารับ “นอกจากนี้ยังคลื่นไส้อาเจียน หลังกินยาด้วยใช่มั๊ย” ผู้ป่วยพยักหน้ารับอีก “มีฝันร้ายด้วยมั๊ย” ผู้ป่วยพยักหน้าและคิดว่าทำไมพยาบาลจึงรู้ว่าเขามีอาการเหล่านี้ทั้งหมดจึงไม่สามารถรับประทานยาต่อได้ เมื่อพยาบาลบอกว่าผลข้างเคียงของยาเหล่านี้เกิดได้กับผู้ที่กินยาต้านไวรัสแทบทุกคน เมื่อทนกินยาต่อเนื่อง 2-8 สัปดาห์อาการจะทุเลาลง เมื่อสื่อสารกับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นจึงได้รู้ว่าเราวิเคราะห์ผิดพลาด ผู้ป่วยไม่ได้ท้อแท้ แต่คิดว่าคงพูดไม่เข้าใจจึงยังไม่อยากพูด และเห็นว่าแพทย์และพยาบาลงานยุ่งคงไม่มีเวลาพูดคุยกันจนเข้าใจได้หรอก (ท่าทางรีบร้อนของเราจะทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเราไม่มีเวลาจะพูดคุยกับเขา) และยังน้อยใจที่ถูกตำหนิว่าไม่รู้จักรักษาตัวเอง เมื่อพยาบาลถามว่า “เคยมีคนบอกถึงผลที่จะเกิดเมื่อกินยาต้านไวรัสมาก่อนมั๊ย” ผู้ป่วยบอกว่า “น่าจะมีตอนที่ไปรับยาแต่บอกหลายเรื่องมากจนจำได้ไม่หมดและตอนนั้นยังไม่ค่อยสนใจฟังเท่าไหร่” พยาบาลจึงถามว่า “ถ้าลดผลข้างเคียงลงหรือให้แพทย์ปรับยาให้ใหม่จะยอมกินยาได้มั๊ย” ผู้ป่วยบอกว่าจะพยายามอดทนกินยาให้ได้ไปตลอด และยิ่งรู้ว่ามีคนอื่นเป็นเหมือนกันก็สบายใจขึ้น

ข้อคิดที่ได้จากผู้ป่วยรายนี้ สำหรับตัวดิฉันเองคงเป็นการที่จะไม่ด่วนสรุปอะไรง่ายๆ จากสิ่งที่เห็น เพราะข้างหลังภาพที่เราเห็นอาจมีสิ่งที่คาดไม่ถึงซ่อนอยู่ แล้วท่านผู้อ่านได้ข้อคิดอะไรบ้างมั๊ยคะ

Comments (1)