Archive for มกราคม, 2010

ไม่ปรุงแต่ง

วันหนึ่งผมคิดได้ว่า หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตที่ผ่านมาของผม ที่ทำให้รู้สึกดี หรือแย่ ล้วนมาจากการปรุงแต่งไปเองของจิตทั้งสิ้น เช่น

๑. ตาเห็นรูป หากเราเพียงแต่รับรู้ว่าเห็นรูป ไม่ปล่อยให้จิตปรุงแต่งไปว่าเป็นคน สัตว์ สิ่งของ ขาว สวย สะโพกผาย อกบึ้ม น่ามอง ไม่น่ามอง มันก็เป็นเพียงรูปและจบลงที่ตรงนั้น
๒. หูได้ยินเสียง หากเราเพียงแต่รับรู้ว่ามีเสียง ไม่ปล่อยให้จิตปรุงแต่งไปว่าเขากำลังด่า นินทา ไพเราะ ไม่น่าฟัง หรือกำลังพูดเรื่องอะไร มันก็เป็นเพียงเสียงและจบลงที่ตรงนั้น
๓. จมูกได้กลิ่น หากเราเพียงแต่รับรู้ว่ามีกลิ่น ไม่ปล่อยให้จิตปรุงแต่งไปว่า หอมหรือเหม็น มันก็เป็นเพียงกลิ่นและจบที่ตรงนั้น
๔. ลิ้นได้รับรสอาหาร หากเราเพียงแต่รับรู้ว่าเป็นรส ไม่ปล่อยให้จิตปรุงแต่งไปว่าอร่อย ไม่อร่อย มันก็เป็นเพียงรสและจบลงที่ตรงนั้น
๕. กายรู้ถึงการสัมผัส และอุณหภูมิต่างๆ หากเราเพียงแต่รับรู้ว่าเป็นการสัมผัสถูก และรู้ว่ามีอุณหภูมิอยู่ ไม่ปล่อยให้จิตปรุงแต่งไปว่าถูกใจ ไม่ถูกใจ สบาย ไม่สบาย มันก็เป็นเพียงรู้สัมผัสทางกายและจบลงที่ตรงนั้น
๖. ใจเกิดอารมณ์ หากเราเพียงแต่รับรู้ว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้จิตปรุงแต่งไปว่าสุข ทุกข์ มันก็เป็นเพียงอารมณ์และจบลงที่ตรงนั้น

วันนั้นคิดได้ แต่สติและปัญญายังไม่เข้มแข็งพอที่จะระลึกถึงสิ่งเหล่านี้ได้ทันทีที่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะฝึกจิตให้ไม่ปรุงแต่ง โดยเริ่มจากการไม่ปรุงก๋วยเตี๋ยว แต่เมื่อหัวค่ำนี้ผมพลาดไปเสียแล้ว เพราะไปกินบะหมี่หมูแดง รสที่ได้รับคำแรกก็ “อร่อย” แถมยังเกิดความอยากรู้ว่าถ้าใส่น้ำตาล พริกป่น กับพริกน้ำส้มลงไปจะอร่อยมากขึ้นไหมเสียอีก ทั้งๆ ที่ปกติ ผมไม่ค่อยจะปรุงก๋วยเตี๋ยวอยู่แล้ว

คงต้องเตือนตนบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ เพื่อเจริญสติ และปัญญาให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม :)

Comments (6)

การเดินทางไป-กลับ

บันทึกการเดินทางไป-กลับ ในวันที่ ๑๑ และ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓

เช้า ๑๑ ม.ค. ๕๓ ขึ้นรถเมล์สาย ๒๘ ไปลงหมอชิต เดินหลงๆ ในหมอชิตอยู่นานกว่าจะหาที่ขายตั๋วเจอ ซื้อตั้วรถทัวร์ บริษัท ขนส่ง จำกัด เที่ยวรถไปตราด รถออกเวลา ๑๑.๐๐ น. ไปรอที่ชานชาลา ๑๐๖ ราคาตั๋ว ๑๕๕ บาท มีขนมหนึ่งกล่อง และน้ำเปล่าแบบขวดใสแจกบนรถ (มีกาแฟ ครีม น้ำตาลเป็นซองมาให้ด้วย แต่ไม่มีน้ำร้อนให้) มีสติ๊กเกอร์ติดไว้เหนือประตูเข้าออก ระหว่างห้องคนขับ และห้องผู้โดยสารว่าห้ามรับประทานอาหารในนี้ แต่ข้าพเจ้าซัดขนมหมดกล่องในรวดเดียวเลย เพราะไม่เข้าใจว่า “ในนี้” หมายถึงส่วนที่เป็นห้องของคนขับ หรือ “ในนี้” หมายถึงส่วนที่เป็นห้องผู้โดยสาร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง

ลงรถทัวร์หน้าตลาดหนองปรือเก่า ข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้าม แล้วเดินเข้าซอยไปค่อนข้างไกลโข แต่เดินได้ (เพราะหามอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่เจอ จึงก้มหน้าเดินไป) มีป้ายบอกทางไปวัดเป็นระยะๆ เมื่อเดินถึงโรงเรียนสมคิดจิตต์วิทยา ก็เดินต่อไปอีกหน่อย เพราะใกล้ถึงวัดแล้ว

เข้าไปในวัด ติดต่อที่สำนักงานก่อน เพื่อรับระเบียบการ ตารางเวลา และกุญแจห้องพัก

ตารางเวลาปฏิบัติ
๐๓.๓๐ ตื่นนอนทำกิจส่วนตัว (ทำความเพียร)
๐๔.๐๐ ปฏิบัติกรรมฐาน
๐๕.๐๐ ทำวัตรเช้า (๔.๓๐ น. เฉพาะวันพระ)
๐๖.๐๐ กำหนดอิริยาบถย่อย ช่วยกันทำความสะอาดสถานที่
๐๖.๓๐ รับประทานอาหาร
๐๗.๓๐ พักผ่อนกำหนดอิริยาบถย่อย
๐๘.๓๐ ปฏิบัติกรรมฐาน
๑๐.๓๐ รับประทานอาหาร
๑๒.๐๐ พักผ่อนกำหนดอิริยาบถย่อย
๑๓.๐๐ ปฏิบัติกรรมฐาน
๑๖.๓๐ กำหนดอิริยาบถย่อย ทำกิจส่วนตัว
๑๗.๓๐ ทำวัตรสวดมนต์ ฟังธรรมบรรยาย
๒๒.๐๐ – ๐๓.๓๐ ปฏิบัติกรรมฐาน/พักผ่อนนอนตามกำหนด
วันพระและวันอาทิตย์ งดสอบอารมณ์

เดินทางกลับวันที่ ๑๕ ม.ค. ๕๓ ออกจากวัดมาตอน ๑๑.๐๐ ต้องโทรเรียกมอเตอร์ไซค์มารับ ค่ารถ ๕๐ บาท (ถ้ารออีกหน่อย ตอนบ่ายสองจะมีรถของทางวัดออกมาส่ง) มาซื้อตั๋วรถทัวร์ที่ร้านอาหารจรินทร์ บอกว่าจะไปเอกมัย จะได้ตั๋วรถบริษัท เชิดชัยทัวร์ ราคา ๑๐๕ บาท มีขนมปังหนึ่งก้อน และน้ำอัดลมหนึ่งแก้ว แจกบนรถ (ถ้าไปหมอชิตค่ารถ ๑๗๐ บาท) ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง

ลงรถที่เอกมัยแล้วเดินออกมาขึ้นรถเมล์สาย ๕๑๑ ฝั่งเดียวกับเอกมัยนั่นแหละ กลับมาบ้าน

การเดินทางคราวนี้ได้เรียนรู้ว่า
๑. ขาไปควรนั่งรถเมล์ไปขึ้นรถทัวร์ที่เอกมัย เพราะใช้เวลาเดินทาง กรุงเทพ-บ้านบึง ประมาณ ๒ ชั่วโมงเท่ากัน แต่ค่ารถทัวร์จะถูกกว่าไปขึ้นที่หมอชิต
๒. อย่าลืมหน้ากากผ้าปิดจมูก ปิดปากไปด้วย (ลืมทุกครั้งที่เดินทางเลย) จะได้คาดปิดจมูกปากขณะเดินทาง เวลานั่งหลับอ้าปากหวอจะได้ไม่ต้องอายใคร -_-“

Comments (2)

กลับหนอ

การเดินจงกรมจะเริ่มจากการกำหนดรูปยืนว่า “ยืนหนอ” โดยกำหนดรู้รูปยืนจากศีรษะ ลงไปจนถึงปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นมาจนถึงศีรษะเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓ ครั้ง

ถ้าปฏิบัติตามวิธีของหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี จะกำหนดว่า “ยืน” จากศีรษะถึงสะดือ และ กำหนด “หนอ” จากสะดือไปถึงปลายเท้า จากนั้นก็กำหนดจากปลายเท้าขึ้นมาถึงสะดือ และสะดือถึงศีรษะ รวมกำหนด “ยืนหนอ” ทั้งหมด ๕ ครั้ง

ก่อนจะเดินก็กำหนดต้นจิตว่า “อยากเดินหนอ” สามครั้ง จึงออกเดิน ใครจะเดินระยะ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ไปจนถึง ๖ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคนนั้นๆ เมื่อเดินไปจนสุดทางที่กำหนดไว้ และหยุดอิริยาบถเดินจะกำหนดว่า “หยุดหนอ” สามครั้ง ตามด้วยกำหนดรูปยืน

เมื่อจะกลับหลังหันเพื่อเดินกลับไปทางเดิมจะกำหนดต้นจิตว่า “อยากกลับหนอ” สามครั้ง ก่อนกลับหลังทางด้านขวา โดยยกเท้าขวาพร้อมกำหนดว่า “กลับหนอ” (วางเท้าขวาทำมุมประมาณ ๖๐ องศา จากตำแหน่งเดิมทุกครั้ง) ตามด้วยเท้าซ้าย กำหนดเหมือนกันว่า “กลับหนอ” (วางลงข้างเท้าขวา) การกลับตัวจะยกเท้า-วางเท้า เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓ คู่ เท่ากับกำหนด “กลับหนอ” ๖ ครั้ง ตัวเราจะกลับมายังทิศทางเดิมที่เราเดินมา แล้วกำหนดรูปยืน และต้นจิตว่าอยากเดินหนอ จึงออกเดิน ทำซ้ำๆ กลับไป กลับมา จนครบเวลาที่กำหนด จึงเริ่มนั่งสมาธิต่อไป เมื่อนั่งครบเวลาที่กำหนด ก็ลุกขึ้นมาเดินใหม่ จนกว่าจะถึงเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น

ตั้งแต่เข้าวันที่สอง ที่ผมไปปฏิบัติธรรม จนถึงวันสุดท้าย มีหลายๆ ครั้ง ขณะที่กำลังเดินจงกรม และถูกนิวรณ์ครอบงำ ตอนที่กำหนดว่า “อยากกลับหนอ อยากกลับหนอ อยากกลับหนอ” ใจมันแว่บ แอบคิดอยากกลับบ้าน :P

/me แถมมีครั้งหนึ่งที่กลับหลังหันมายืน พร้อมเดินกลับไปตามทางเดิมเรียบร้อยแล้ว แต่แทนที่จะกำหนดต้นจิตว่า “อยากเดินหนอ” ก็ดันไปกำหนดต้นจิตว่า “อยากกลับหนอ อยากกลับหนอ อยากกลับหนอ” แทนซะงั้น -_-“

ให้ความเห็น

เอาบุญมาฝาก

คืนหนึ่ง หลังจากทำวัตรสวดมนตร์เย็น และปฏิบัติวิปัสสนากันเรียบร้อยแล้ว อาจารย์เจ้าอาวาสได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งแก่นักเรียนและญาติโยมในศาลา

ท่านเริ่มเรื่องว่า นักเรียนที่มาปฏิบัติธรรมในรอบนี้ นับว่าได้ทำบุญอย่างหนึ่ง (ท่านยังได้แจงให้ฟังด้วย ว่าสิ่งที่ทำแล้วได้บุญมีอะไรบ้าง เช่น การฟังธรรม ฯลฯ) แต่ตอนนี้นักเรียนทั้งหลายยังเป็นเด็ก อาจจะยังไม่รู้จักบุญ ไม่รู้ว่าบุญคืออะไร ยังไม่ให้ความสนใจในการทำบุญ แต่ถ้าหากว่าไม่สนใจเสียแต่ตอนนี้ ระวังว่าพอแก่ตัวไปจะเหมือนตาแป๊ะพายเรือจ้างข้ามฟาก

ตาแป๊ะแกคอยรับจ้างพายเรือให้คนฝั่งนี้ ข้ามไปฝั่งโน้น และรับคนจากฝั่งโน้นมาฝั่งนี้ทุกวัน พอวันพระคนฝั่งนี้ก็ข้ามไปทำบุญที่วัดฝั่งโน้นกันเป็นประจำ เมื่อพวกเขาทำบุญกันเสร็จแล้ว ก็มาใช้บริการเรือตาแป๊ะข้ามฟากกลับมาบ้านของตน และแทบทุกคนจะบอกตาแป๊ะว่า “วันนี้ฉันไปทำบุญมา เอาบุญมาฝากแป๊ะด้วยนะ” ตาแป๊ะแกไม่รู้จักบุญ ไม่เคยสนใจ วันวันพายเรือเก็บตังค์อย่างเดียว จึงไม่เคยได้ร่วมอนุโมทนา สาธุ กับใครเขาทั้งสิ้น

อยู่มาวันหนึ่ง หลวงพ่อเจ้าอาวาสจากวัดฝั่งโน้น ต้องเข้ามาทำธุระในเมืองฝั่งนี้ ท่านจึงใช้บริการเรือตาแป๊ะ พอข้ามฟากเรียบร้อยก็จ่ายสตางค์ แล้วไปทำธุระของท่าน ตาแป๊ะรับเงินหลวงพ่อมาแล้ว ก็นึกขึ้นได้ว่า เกิดมาจนอายุปูนนี้ยังไม่เคยรู้จักบุญกับเขาเลย เดี๋ยวพอหลวงพ่อกลับจากทำธุระ มาใช้บริการเรือข้ามฟากจากแกอีก ก็จะไม่เอาสตางค์ล่ะ แต่จะขอบุญจากหลวงพ่อแทน

เวลาผ่านไปจนบ่ายแก่ๆ ใกล้ๆ เย็น หลวงพ่อกลับจากทำธุระ ลงเรือข้ามฟากตาแป๊ะกลับวัด พอจะขึ้นฝั่งก็ยื่นเงินค่าจ้างให้ตาแป๊ะ แต่คราวนี้ตาแป๊ะแกจำได้ว่าจะไม่เอาสตางค์ จะขอบุญจากหลวงพ่อแทน จึงบอกความต้องการแก่หลวงพ่อ ว่าอั๊วไม่เอาตังค์แล้ว จะขอบุญจากหลวงพ่อแทนแล้ว เพราะอยู่มาจนแก่ป่านนี้ยังไม่เคยเห็นบุญกับเขาสักที ตาแป๊ะคะยั้นคะยอจะเอาบุญจากหลวงพ่อให้ได้

หลวงพ่อไปทำธุระไม่ได้พกอะไรติดตัวไปด้วย ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อาจจะมีพระเครื่อง หรือหนังสือธรรมะติดย่ามไว้คอยแจกญาติโยม แต่สมัยก่อนนู้นเรื่องพระเครื่องยังไม่เป็นที่นิยม หนังสือธรรมะก็ไม่มีการตีพิมพ์แพร่หลาย หลวงพ่อก็ไม่รู้จะเอาอะไรให้ตาแป๊ะ หรือจะบอกตาแป๊ะอย่างไร เพราะตาแป๊ะแกไม่เคยรู้จักบุญมาก่อน แกเข้าใจว่า บุญเป็นอะไรที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ท่านจึงบอกให้ตาแป๊ะจอดเรือรอเดี๋ยว แล้วหันหลังให้ตาแป๊ะ เอานิ้วชี้ล้วงเข้ารูจมูก ควักขี้มูกออกมาได้ก้อนหนึ่ง ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้ง ปั้นขี้มูกเป็นก้อนกลมๆ กดๆ บีบๆ อัดๆ คลึงๆ ให้มันแน่นๆ หันกลับมายื่นใส่มือให้ตาแป๊ะ แล้วขึ้นจากเรือกลับวัดไป

ตาแป๊ะรับก้อนบุญมาพิจารณาดูแล้ว บ่นว่า “บุญนี่มันยังไง เล็กนิดเดียว” ก่อนจะนำบุญก้อนนั้นใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ พายเรือรับจ้างต่อไปสักพัก ต้องก้มๆ เงยๆ แกก็กลัวว่าบุญที่ได้รับจากหลวงพ่อมาจะหล่นหาย จึงนำออกมาเหน็บไว้ที่ชายพกผ้าขาวม้า ช่วงไหนที่เรือจอดรอคน แกก็นำบุญออกมาดู มาพิจารณา เพราะเป็นสิ่งที่แกอยากรู้ พอพายเรือไปอีกสักพัก ฟ้าใกล้มืด แกก็กลัวว่าบุญจะหายอีก เพราะก้อนมันเล็ก ถ้าทำหล่นไปเดี๋ยวจะมองไม่เห็น หาไม่เจอ คราวนี้แกอยากมั่นใจว่าบุญจะไม่หายแน่นอน จึงเอาเข้าปากอม พอก้อนบุญถูกลิ้น แกก็บ่นว่า “บุญนี้มันยังไง เค็มจริง”

Comments (2)

ตาเห็นทำ

ไปปฏิบัติธรรมคราวนี้ ผมได้ร่วมทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นด้วย การทำวัตรสวดมนต์เช้า หญิงกับชายจะแยกกันคนละศาลา แต่เมื่อทำวัตรเย็นจะมารวมที่ศาลาเดียวกันทั้งพระภิกษุและฆารวาส

การทำวัตรเย็นจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๗.๓๐ ไปจนถึงทุ่มกว่าๆ หรือสองทุ่ม แล้วแต่ว่าจะใช้เวลาสวดมนต์ ฟังธรรมบรรยาย และปฏิบัติกรรมฐานนานแค่ไหน

วันที่ผมไปถึง มีเด็กนักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่ง ทั้งหญิงชายประมาณยี่สิบกว่าคนมาปฏิบัติห้าวันเท่ากันด้วย คือวันที่ ๑๑-๑๕ เหมือนกันเลย คาดว่านักเรียนกลุ่มนี้จะถูกอาจารย์ฝ่ายปกครองส่งให้มาฝึกสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้สามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น

บ่ายวันหนึ่ง ขณะที่ผมกำลังปฏิบัติอยู่ที่ศาลา ๙๑ เหล่านักเรียนหญิงชาย ก็ออกมาทำความสะอาดรอบๆ บริเวณวัดกันยกใหญ่ ทั้งทางเดิน และห้องน้ำ โดยมีแม่ชีคอยดูแลอยู่ด้วย

พอถึงเวลาทำวัตรเย็น หลังจากสวดมนต์ ฟังธรรมบรรยาย และปฏิบัติกรรมฐานแล้ว หากอาจารย์เจ้าอาวาสยังมีเรื่องใดจะพูดคุย หรือเล่าอะไรให้ฟัง ท่านก็จะพูดคุยกับพวกเราต่อไปอีกหน่อย

คืนนั้นท่านพูดถึงการช่วยกันทำความสะอาดรอบบริเวณวัดของนักเรียนทั้งหลายว่าดี เพราะนักเรียนยังเด็ก มีกำลังใจน้อย แต่กำลังกายมาก ถึงแม้จะไม่สามารถปฏิบัติวิปัสสนาได้ต่อเนื่อง แต่การช่วยทำความสะอาดก็เป็นการทำความดีอย่างหนึ่ง และอยากให้ทุกคนได้ทำความดีแบบ “ตาเห็นเป็นทำ” คือ ตามองเห็นโอกาสทำความดีอะไรก็ทำทันที ไม่ต้องรีรอ ทำความดีแบบตาเห็นเป็นทำต่อไปเรื่อยๆ แล้วสักวันหนึ่ง ด้วยความดีที่เราได้กระทำสั่งสมมานี้ อาจส่งผลให้เราได้ “ดวงตาเห็นธรรม”

ให้ความเห็น

Older Posts »